เมนู

อรรถกถาสูตรที่ 5



ประวัติพระเรวตเถระ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้.
บทว่า อารญฺญกานํ ได้แก่ ผู้มีปกติอยู่ป่าเป็นวัตร บทว่า
เรวโต ขทิรวนิโย ได้แก่ น้องชายคนเล็กของพระธรรมเสนาบดีเถระ
ท่านมิได้อยู่เหมือนอย่างพระเถระเหล่าอื่น เมื่อจะอยู่ในป่าก็ต้อง
เลือกป่า น้ำ และที่ภิกขาจารที่ถูกใจจึงอยู่ในป่า แต่ท่านไม่ยึดถือ
ของที่ถูกใจเหล่านี้ อาศัยอยู่ในป่าตะเคียนที่ขระขระด้วยก้อนกรวด
และก้อนหินบนที่ดอน ฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุ
ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ
ดังต่อไปนี้.
ได้ยินว่า ในอดีตกาลครั้งพระปทุมุตตระพุทธเจ้า พระเรวตะ
นี้บังเกิดในหงสวดี อาศัยกระทำการงานทางเรือ ที่ท่าปยาคประดิษ-
ฐานในแม่น้ำคงคา สมัยนั้น พระศาสดามีภิกษุแสนหนึ่งเป็นบริวาร
เสด็จจาริกไปจนถึงท่าปยาคประดิษฐาน เขาเห็นพระทศพลแล้ว
คิดว่า เราไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งคราว ขณะนี้เป็นขณะที่
เราจะได้ขวนขวายกัลยาณกรรมไว้ จึงให้ผูกเรือขนานต่อกัน ดาด
เพดานผ้าข้างบน ห้อยพวงมาลาของหอมเป็นต้น ลาดเครื่องลาดอัน
วิจิตรประกอบด้วยผ้าเปลือกไม้ นิมนต์พระศาสดาพร้อมทั้งบริวาร
เสด็จข้ามฟาก ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุผู้อยู่ป่า
เป็นวัตรองค์หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ นายเรือนั้นเห็นภิกษุนั้น

จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรใน
ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตดังนี้เหมือนกัน
จึงนิมนต์พระศาสดาถวายมหาทาน 7 วัน หมอบ ณ แทบบาทมูล
ของพระศาสดา กระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
แม้ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรในศาสนา
ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนอย่างภิกษุที่พระองค์
ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเถิด พระศาสดาทรงเห็นว่า
หาอันตรายมิได้ ทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตท่านจักเป็นผู้ยอด
ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า แล้วเสด็จกลับไป แต่มิได้กล่าว
ถึงกรรมในระหว่างไว้.
ท่านกระทำกัลยาณกรรมจนตลอดชีพ เวียนว่ายอยู่ใน
เทวโลกและมนุษย์ในพุทธุปบาทกาลนี้ จึงมาถือปฏิสนธิในท้อง
แห่งนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านพราหมณ์ชื่อ นาลกะ เขตมคธ
เกิดเป็นน้องสุดท้องของพี่ชาย 3 คน พี่สาว 3 คน มารดาบิดา
ชื่อว่า เรวตะ คราวนั้นมารดาบิดาของท่านคิดว่า เมื่อลูกของเรา
เจริญโตแล้ว เหล่าพระสมณศากยะบุตรก็มานำเอาไปบวชเสีย
เราจักผูกเรวตะลูกคนเล็กของเราไว้ด้วยเครื่องผูกคือเรือน ดังนี้
แล้วนำนางทาริกาจากสกุลที่เสมอกันมาให้ไหว้ย่าของเรวตะแล้ว
กล่าวว่า แน่ะแม่ เจ้าจงเป็นคนแก่ยิ่งกว่าย่าของเจ้า เรวตะฟังถ้อย
คำของตนเหล่านั้นแล้วคิดว่า นางทาริกานี้ยังอยู่ในปฐมวัย เขาว่า
รูปมีอย่างนี้ของนางทาริกานี้จักเป็นเหมือนรูปย่าของเรา เราจัก
ถามความประสงค์ของคนเหล่านั้นก่อน แล้วจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย
จะกระทำอย่างไร มารดาบิดาตอบว่า "เราบอกว่า พ่อเอ๋ย หญิงนี้

จะถึงความชราเหมือนอย่างย่าของเจ้า". เรวตะนั้นถามว่า รูปของ
หญิงนี้จักเป็นเหมือนอย่างนี้หรือ. มารดาบิดาตอบว่า พ่อเอ๋ย เจ้า
พูดอะไร ผู้มีบุญมากก็จะเป็นอย่างนี้ เรวตะนั้นคิดว่า ได้ยินว่า รูปนี้
ก็จักมีหนังเหี่ยวโดยทำนองนี้ จักมีผมหงอก ฟันหักโดยทำนองนี้
เรายินดีในรูปเช่นนี้จะทำอะไรได้ เราจักไปตามทางที่พี่ชายของเรา
ไปแล้วนั่นแหละ. จึงทำเป็นเหมือนยืนพูดกะเด็กหนุ่ม ๆ รุ่น ๆ กันว่า
มาเถอะพวกเรา เราไปวิ่งกันแล้วออกไปเสีย มารดาบิดากล่าวว่า
พ่อในวันมงคล เจ้าอย่าไปข้างนอกเลย.
เรวตะนั้นทำเป็นเหมือนเล่นกับเด็กทั้งหลายอยู่ พอถึงวาระ
ตนวิ่งก็ไปหน่อยหนึ่งแล้วกลับเดินกลับช้า ๆ พอถึงวาระอีกก็ไป
ให้เหมือนไกลกว่านั้นแล้วกลับมา ครั้งถึงวาระที่สามก็รู้ว่า คราวนี้
เป็นเวลาของเราจะหนีไปในที่ต่อหน้านั่นเอง ไปจนถึงป่าซึ่งเป็นที่
อยู่ของภิกษุผู้ถือบังสุกุลเป็นวัตร อภิวาทพระเถระแล้วขอบรรพชา
พระเถระกล่าวว่า สัปบุรุษ เราไม่รู้จักเธอ เธอเป็นลูกของใคร
และเธอก็มาโดยทั้งที่แต่งตัวอยู่เช่นนี้ ใครจะสามารถให้เธอบวชได้
เล่า เขายกแขนทั้ง 2 ขึ้นร้องเสียงดังว่า เขาปล้นฉัน เขาปล้นฉัน
ดังนี้ พวกภิกษุก็มามุงทั้งข้างโน้นข้างนี้กล่าวว่า สัปบุรุษ ในที่นี้
ไม่มีใครที่ชื่อว่าปล้นผ้าหรือเครื่องประดับของเธอเลย เธอจะพูดว่า
เขาปล้นอย่างไร เรวตะกล่าวว่า ท่านผู้เจริญผมมิได้กล่าวหมายถึง
ผ้าและเครื่องประดับ แต่กล่าวหมายถึงพวกท่านยังปล้นสมบัติข้างใน
ไม่ต้องบวชผมก่อนโปรดบอกให้พี่ชายของข้าพเจ้าทราบก่อน
ภิกษุถามว่า ก็พี่ชายของเธอชื่อไร ร.ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ชื่ออุปติสสะ

แต่ในเวลานี้คนทั้งหลายเรียกว่าสารีบุตร ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า
อาวุโส เมื่อเป็นอย่างนั้น กุลบุตรผู้นี้ก็เป็นน้องชายคนเล็กของพวกเรา
พระธรรมเสนาบดีพี่ชายใหญ่ของเราพูดไว้ก่อนเทียวว่า พวกญาติ
ของเราล้วนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ญาติของเราคนใดคนหนึ่งมาก็จงให้เขา
บวชด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเถิด ดังนั้น จึงกล่าวว่า กุลบุตรนี้
เป็นน้องตัวของพระเถระ ท่านทั้งหลายจงให้เธอบวชเถิด ดังนี้แล้ว
บอกตจปัญจกกัมมัฏฐานแล้ว พระเถระเรียนกัมมัฏฐานแล้วเข้า
ไปสู่ป่าไม้ตะเคียนซึ่งมีประการดังกล่าวไว้ในที่ไม่ไกลอุปัชฌาย์
อาจารย์บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อท่านเพียรพยายามอยู่ด้วยตั้งใจว่า
เรายังไม่บรรลุพระอรหัต ก็จักไม่ไปเฝ้าพระทศพลหรือพระเถระ
พี่ชาย ล่วงไป 3 เดือนเป็นสัตว์ผู้สุขุมาลชาติบริโภคโภชนะอันปอน
จิตต์ก็ไม่ประณีตไม่มุ่งหน้าอยู่ในพระกัมมัฏฐาน โดยล่วงไป 3 เดือน
ปวารณาออกพรรษาแล้วจึงบำเพ็ญสมณธรรมในที่นั้นนั่นแหละ
เมื่อท่านบำเพ็ญสมณธรรมอยู่จิตต์ก็มีอารมณ์เป็นอันเดียวแล้ว
ท่านเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต
ครั้งนี้ ท่านพระสารีบุตรทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ได้ยินว่าเรวตะน้องคนเล็กของข้าพระองค์ออกบวช เธอ
จะยินดีหรือไม่ยินดี ข้าพระองค์จักไปเยี่ยมเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงทราบว่า พระเรวตะเริ่มวิปัสสนาแล้ว จึงทรงห้ามเสีย 2 ครั้ง
ในครั้งที่ 3 ท่านทูลวิงวอนอีก ทรงทราบว่าบรรลุพระอรหัตแล้ว
จึงตรัสว่า สารีบุตร แม้เราก็จักไปด้วย เธอจงบอกภิกษุทั้งหลาย
เถิด พระเถระประชุมภิกษุสงฆ์แล้วแจ้งแก่พระภิกษุทั้งปวงว่า

อาวุโส พระศาสดามีพระประสงค์จะเสด็จจาริก รูปใดประสงค์
จะไปด้วยก็จงมาเถิด ในเวลาที่พระทศพลเสด็จจาริก ชื่อว่าภิกษุ
ผู้ล้าหลังอยู่มีน้อย โดยมากภิกษุเป็นอันมากประสงค์จะไปเพราะ
คิดว่าจะเห็นพระสรีระของพระศาสดาที่มีวรรณะเพียงดังทอง
หรือจักฟังธรรมกถาอันไพเราะด้วยประการฉะนี้ พระศาสดา
มีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกไปด้วยหมายจะเยือนพระ-
เรวตะ พระอานนทเถระ ถึงทาง 2 แพร่งในที่แห่งหนึ่งครั้งนั้น
จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตรงนี้ทางเป็น 2 แพร่ง ภิกษุสงฆ์
จะไปทางไหน พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า อานนท์
ทางไหนละเป็นทางตรง พระเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ทางตรงมีระยะทาง 30 โยชน์ เป็นทางของอมนุษย์ (เดิน) ส่วน
ทางอ้อมมีระยะทาง 60 โยชน์เป็นทางปลอดภัยหาภิกษาได้ง่าย
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ พระสีวลีมากับเราแล้วหรือ
พระเถระ มาด้วยพระเจ้าข้า ศ.ถ้าอย่างนั้นพระสงฆ์จงไปทางตรง
เราจักทดลองบุญของพระสีวลี พระศาสดา มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร
เสด็จทางดง เพื่อทดลองบุญของพระสีวลีเถระ ตั้งต้นแต่ที่พระศาสดา
เสด็จดำเนินขึ้นทางหมู่เทพเนรมิตนครในที่ทุก ๆ โยชน์ ตกแต่ง
วิหารเพื่อเป็นที่อยู่ถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เหล่า
เทวบุตร เป็นเหมือนพวกรรมกรที่พระราชาส่งไป ถือข้าวยาคูและ
ของเคี้ยวเป็นต้นไปถามว่า พระคุณเจ้าสีวลีอยู่ไหน พระคุณเจ้า
สีวลีอยู่ไหน พระเถระให้รับเครื่องสักการะสัมมานะไปยังสำนัก
พระศาสดา พระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงชื่นชมเครื่องสักการะ
และสัมมานะ โดยทำนองนี้แหละเสด็จดำเนินไปสิ้นระยะทางวันละ

โยชน์เป็นอย่างยิ่ง ล่วงทางกันดารถึง 30 โยชน์ จนถึงที่พักอาศัย
ของพระขทิรวนิยเถระ.

พระเถระทราบว่า พระศาสดาเสด็จมา จึงเนรมิตวิหาร
สถานที่อยู่ของตนให้พอแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
และพระคันธกุฏีที่พักกลางคืนที่พักกลางวันเป็นต้นถวายพระทศพล
ด้วยฤทธิ์ ออกไปรับเสด็จพระตถาคตแล้ว พระศาสดาเสด็จเข้าสู่
วิหารโดยทางที่ประดับแล้ว ตกแต่งแล้ว. คราวนั้น เมื่อพระตถาคต
เสด็จเข้าพระคันธกุฏี ภิกษุทั้งหลายก็เข้าไปสู่เสนาสนะที่ถึงแล้ว
โดยควรแก่พรรษา เทวดาคิดว่า เวลานี้มิใช่เวลาอาหาร จึงนำ
นำอัฏฐบานมาถวาย พระศาสดาทรงดื่มน้ำอัฏฐบานพร้อมกับพระ-
ภิกษุสงฆ์ โดยทำนองนี้ เมื่อพระตถาคตทรงชื่นชมสักการะสัมมานะ
ล่วงไปกึ่งเดือน. ครั้งนั้น ภิกษุที่กระสันขึ้นบางพวกนั่งอยู่ในที่เดียวกัน
สนทนากันขึ้นว่า พระศาสดาผู้ทศพลตรัสว่า ก็น้องชายคนเล็ก
ของพระอัครสาวกของเรา" เสด็จมาเยือนภิกษุผู้นวกัมมิกะผู้ก่อสร้าง
เห็นปานนี้ คิดว่าเชตวันมหาวิหารหรือเวฬุวันมหาวิหารเป็นต้น
จักทำอะไรในสำนักแห่งวิหารนี้ได้ ภิกษุแม้นี้เป็นผู้กระทำนวกรรม
เห็นปานนี้ จักกระทำสมณธรรมชื่ออะไรได้ ดังนี้.
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงดำริว่า เมื่อเราอยู่นานไป ที่นี้ก็จัก
เกลื่อนกล่น ธรรมดาภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรย่อมมีความต้องการ
ความสงัด เรวตะจักอยู่ไม่ผาสุก แต่นั้นจึงเสด็จไปยังที่พักกลางวัน
ของพระเรวตะ.

พระเถระนั่งบนแผ่นหินพิงแผ่นกระดานที่ห้อยลงไป ณ ท้าย
ที่จงกรมแต่ลำพังองค์เดียว เห็นพระศาสดาเสด็จมาแต่ที่ไกล จึง
ต้อนรับถวายบังคม, ที่นั้น พระศาสดาตรัสถามท่านว่า เรวตะ ที่นี้
เป็นที่ประกอบด้วยพาลมฤค (สัตว์ร้าย) เธอได้ยินเสียงช้างและม้า
เป็นต้นที่ดุร้าย ทำอย่างไรกะเสียงนั้น. พระเรวตะทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ได้ยินเสียงของสัตว์เหล่านั้น ย่อม
เกิดความปีติอยู่ในป่า พระศาสดาตรัสพระดำรัสชื่ออรัญญปัสสกถา
ด้วยคาถา 500 คาถาแด่พระเรวตะเถระ. วันรุ่งขึ้นเสด็จไปเพื่อ
บิณฑบาต ในที่ไม่ไกลแล้วเรียกพระเรวตะมาทรงกระทำให้พวก
ภิกษุที่กล่าวิติเตียนพระเถระให้หลงลืมไม้เท้า รองเท้า ทะนานน้ำมัน
และร่มไว้ ภิกษุเหล่านั้นต้องกลับมาเพื่อเอาบริขารของตน เดินไป
ตามทางที่ตนมาแล้วนั่นเองก็กำหนดสถานที่ที่ตนวางไว้ไม่ได้.
ก็ทีแรกภิกษุเหล่านั้นเดินไปตามทางที่เขาประดับแล้ว แต่งแล้ว
แต่ในวันนั้น กลับเดินไปตามทางขรุขระ ต้องนั่งกระหย่ง ต้องเดิน
ไปด้วยเข่าในที่นั้น ๆ ภิกษุเหล่านั้นต่างเหยียบย่ำพุ่มไม้ กอไม้
และหนามไปถึงที่ ๆ ต้องอัธยาศัยที่ตนเคยอยู่ ก็พบร่มของตนบน
ตอไม้ตะเคียนนั้น ๆ ได้ จำรองเท้า ไม้เท้าและทะนานน้ำมันได้
ในตอนนั้น พวกเธอจึงรู้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้มีฤทธิ์ ครั้นถือเอาบริขาร
ของตน ๆ แล้วพูดว่า ชื่อว่าสักการะที่ตกแต่งถวายพระทศพลย่อม
เป็นถึงเพียงนี้ พากันไปแล้ว.
นางวิสาขามหาอุบาสิกา ถามพวกภิกษุที่ไปข้างหน้าใน
เวลาที่ท่านนั่งในเรือนของตนว่า ท่านผู้เจริญ ที่อยู่ของพระเรวตเถระ

น่าพอใจหรือไม่ล่ะ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า น่าพอใจอุบาสิกา เสนาสนะ
นั้นเปรียบด้วยสวนนันทวันและสวนจิตลดาเป็นต้น ทีนั้น จึงถาม
ภิกษุที่มาถึงภายหลังสุดของภิกษุเหล่านั้นว่า พระคุณเจ้าที่อยู่ของ
พระเรวตเถระน่าพอใจไหม ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า อย่าถามเลย
อุบาสิกา ที่นั้น เป็นที่ ๆ ไม่สมควรจะพูดถึง ที่ดอน มีก้อนกรวด
ก้อนหินป่าไม้ตะเคียนอย่างนี้ ภิกษุนั้นยังอยู่ในที่นั้นได้ มหาอุบาสิกา
วิสาขาฟังถ้อยคำของภิกษุที่มาก่อนและที่มาทีหลังแล้วคิดว่า ถ้อย
คำของภิกษุพวกไหนหนอเป็นคำจริง ภายหลังภัตรถือเอาของหอม
และดอกไม้ไปกระทำบำรุงพระทศพล ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่
สมควรส่วนข้างหนึ่ง จึงทูลถามพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระคุณเจ้าบางพวกสรรเสริญที่อยู่ของพระเรวตเถระ บางพวกติ
ข้อนี้เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนวิสาขา
มหาอุบาสิกา ที่ของพระอริยะจะเป็นที่น่ารื่นรมย์หรือไม่เป็นที่น่า
รื่นรมย์จงยกไว้ จิตของพระอริยะย่อมยินดีทั้งนั้น ที่นั้น ชื่อว่าเป็น
ที่น่ารื่นรมย์แท้จริง ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า.

คาเม วา ยทิ วารญฺเญ นินฺเน วา ยทิ วา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิรามเณยฺยกนฺติ.

พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่ในที่ใด ไม่ว่าเป็นบ้าน
ป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้น เป็นภูมิภาคที่
น่ารื่นรมย์ทั้งนั้น ดังนี้.

ต่อมาในภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่
พระอริยะในเชตวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง
เป็นยอดของเหล่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปกติอยู่ในป่าเป็นวัตรแล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ 5

อรรถกถาสูตรที่ 6



ประวัติพระกังขาเรวตเถระ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 6 ดังต่อไปนี้.
บทว่า ฌายีนํ ได้แก่ ผู้ได้ฌาน คือผู้ยินดียิ่งในฌาน ได้ยินว่า
พระเถระนั้นชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ได้ฌาน เว้นไว้น้อย
กว่าที่พระทศพลทรงเข้าสมาบัติ เข้าสมาบัติเป็นส่วนมาก เพราะ
ฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เข้าฌาน ท่านเรียกว่า
กังขาเรวตะ เพราะเป็นผู้มักสงสัย ความรำคาญ อธิบายว่า กุกฺกุจฺจกา
เป็นผู้มีความรำคาญ ชื่อว่า สงสัย. ถามว่า ก็ภิกษุรูปอื่น ที่มีความ
รำคาญ ไม่มีหรือ ? ตอบว่า มี แต่พระเถระนี้ แม้ในสิ่งที่สมควร
ก็เกิดรำคาญ เพราะฉะนั้น ความที่พระเถระนั้นเป็นผู้มีความรำคาญ
เป็นปกติ ปรากฏชัดแจ้งแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงนับว่า กังขาเรวตะ
ผู้มักสงสัย ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ
ดังต่อไปนี้.